หมอประจำบ้าน: ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease)ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือภาวะที่ไขมันเข้าไปแทรกที่เซลล์ของตับ ซึ่งหากสะสมมากกว่า 5–10% ของน้ำหนักตับจะถือว่าเป็นภาวะไขมันพอกตับ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และโรคอื่น ๆ หากตรวจพบภาวะไขมันพอกตับตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะเน้นรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
แต่หากปล่อยให้อาการของโรคดำเนินไปโดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ตับเกิดการอักเสบ เซลล์ตับตาย และเกิดพังผืดภายในตับ จนกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น ตับวาย ตับหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง และมะเร็งตับ
สาเหตุของไขมันพอกตับ
สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันพอกตับเกิดจากการที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญไขมัน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease)
ตับทำหน้าที่ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยปรับระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ปกติ และกรองของเสียออกจากเลือด โดยร่างกายจะสูญเสียเซลล์ตับบางส่วนในการกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย หากดื่มในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ร่างกายจะสร้างเซลล์ตับขึ้นมาทดแทนได้
แต่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะทำให้ตับไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทนได้ดีเท่าที่ควร เมื่อตับทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จะส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับ และเกิดเป็นภาวะไขมันพอกตับตามมา
2. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease)
ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญ หรือความผิดปกติของเอนไซม์และตัวรับ (Receptor) ที่อยู่ในร่างกาย จนมีไขมันส่วนเกินไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ กลายเป็นภาวะไขมันพอกตับ เช่น
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นไขมันพอกตับ หรือโรคอ้วนมาก่อน
ผู้มีภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีไขมันสะสมที่บริเวณหน้าท้อง หรือที่เรียกว่าอ้วนลงพุง
ภาวะไขมันในเลือดสูง เช่น คอเลสเตอรอลสูง และไตรกลีเซอไรด์สูง
โรคเบาหวาน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ความผิดปกติของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหาร (Refeeding Syndrome)
โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome)
ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
ภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Hypopituitarism)
นอกจากนี้ ไขมันพอกตับอาจพบในผู้สูงอายุ ผู้ใช้ยาต่าง ๆ เช่น อะมิโอดาโรน (Amiodarone) ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) กลูโคคอร์ติซอล (Glucocorticoids) เททราไซคลิน (Tetracycline) โอเอสโตรเจน (Oestrogens) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) และแทลเลียม (Thallium) รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 แต่พบได้น้อย
อาการของไขมันพอกตับ
คนที่เป็นไขมันพอกตับระยะแรกมักไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้ตับอักเสบ จนทำให้เกิดพังผืดที่ตับ แต่ตับยังทำงานได้ตามปกติ หากไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง ซึ่งเป็นระยะที่ตับเกิดความเสียหายถาวร และอาจนำไปสู่ภาวะตับวาย และมะเร็งตับตามมา
ผู้ป่วยไขมันพอกตับจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคเข้าสู่ระยะรุนแรง โดยอาการที่พบได้คือ
เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดที่บริเวณท้องด้านบนขวา หรือกลางท้อง
คลื่นไส้ อาเจียน
น้ำหนักลดผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง
คันผิวหนัง มีรอยปื้นคล้ำที่ผิวหนังบริเวณ คอ หรือใต้รักแร้
แขน ขา และท้องบวม
ม้ามโต
ดีซ่าน (Jaundice)
ปัสสาวะสีเข้ม และอาเจียนเป็นเลือด
มึนงง สับสน
หายใจลำบาก
อาการไขมันพอกตับที่ควรไปพบแพทย์
คนทั่วไปมักไม่มีอาการใด ๆ หากไขมันพอกตับอยู่ในระยะแรก เพราะหากมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง ปวดท้องด้านบนขวา อ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะไขมันพอกตับที่เข้าสู่ระยะรุนแรง การไปตรวจและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการ และชะลอความรุนแรงของโรคได้
การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ
การตรวจร่างกายเป็นวิธีเดียวที่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ โดยในขั้นต้นหากแพทย์พบความผิดปกติที่ตับ เช่น คลำที่ท้องแล้วบริเวณตับมีอาการโตผิดปกติ หรือซักประวัติผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ความอยากอาหารลดลง เคยมีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ มีการใช้ยาหรืออาหารเสริมต่าง ๆ แพทย์ก็จะสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ เช่น
การตรวจเลือด
แม้จะไม่สามารถระบุภาวะไขมันพอกตับได้ชัดเจน แต่การตรวจเลือดจะช่วยให้แพทย์เห็นปริมาณเอนไซม์ของตับที่มากขึ้นผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณและปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของไขมันพอกตับ หรือในบางกรณีก็ทำให้แพทย์เห็นสัญญาณของการอักเสบของตับได้อีกด้วย
ประเภทการตรวจเลือดที่แพทย์มักใช้ได้แก่
การตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
การตรวจเอนไซม์และการทำงานของตับ
การตรวจวัดไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
การตรวจหาภาวะตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง
การตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดwww.pobpad.com/ทำความรู้จัก-hba1c-วิธีตรวจค (Hemoglobin A1C)
การดูภาพทางรังสีวินิจฉัย (Imaging Procedures)
วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติของตับจากภาพถ่าย ซึ่งวิธีที่แพทย์ใช้ในเบื้องต้น คือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) จากนั้นหากแพทย์ต้องการผลที่ละเอียดมากขึ้น แพทย์อาจให้ตรวจซีที สแกน (CT Scan) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภาพของตับได้ชัดเจนจนสามารถยืนยันผลได้
การเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจ (Biopsy)
การเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจเป็นวิธีที่ยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ และสาเหตุเกิดจากกอะไร โดยแพทย์จะทายาชาที่ผิวหนังบริเวณตับ จากนั้นใช้เข็มเจาะเข้าไปเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ตับ และนำไปตรวจโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ ผลที่ได้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจวินิจฉัยวิธีอื่น ๆ
การรักษาไขมันพอกตับ
การรักษาภาวะไขมันพอกตับมุ่งเน้นไปที่การหันมาดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคไขมันพอกตับได้โดยตรง ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ผู้ป่วยควรเน้นรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมไขมันต่ำ ผักผลไม้ ธัญพืชขัดสีน้อย และถั่วต่าง ๆ ที่ให้โปรตีนและไฟเบอร์สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และลดปริมาณการรับประทานอาหารลงให้เหลือแค่พออิ่ม ก็จะช่วยควบคุมความรุนแรงของอาการได้
งดดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะยิ่งทำให้อาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้มีภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรลดปริมาณการดื่มลง หรือหากเป็นไปได้ แพทย์อาจแนะนำให้เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต ซึ่งจะส่งผลดีที่สุด นอกจากนี้ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดได้
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 150 นาที จะทำให้อาการโดยรวมต่าง ๆ ของภาวะไขมันพอกตับดีขึ้น และช่วยให้ความไวต่ออินซูลินของร่างกาย (Insulin Sensitivity) ดีขึ้น ซึ่งดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ควบคุมน้ำหนัก
การควบคุมน้ำหนักตัวเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดไขมันในร่างกายได้ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง และทำให้ไขมันที่แทรกตัวอยู่ภายในตับลดลง แต่หากผู้ป่วยมีภาวะอ้วนจนไม่สามารถลดน้ำหนักได้เท่าที่ควร อาจต้องใช้การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยในการลดน้ำหนักด้วย
การใช้ยา
แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดการสะสมของไขมันในตับ เช่น ยากลุ่มสแตติน (Statin) ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน (Thiazolidinediones) และอาหารเสริมอื่น ๆ เช่น โอเมก้า 3 และวิตามินอี ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ตับทำงานหนัก
ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่ระบุบนฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรใด ๆ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ และบี ซึ่งมักทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงในผู้ป่วยโรคตับ
ภาวะแทรกซ้อนไขมันพอกตับ
การควบคุมภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ดี จะทำให้ตับอักเสบและเกิดพังผืดในตับตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ดีและทันท่วงทีจะทำให้พังผืดขยายตัวมากขึ้นและลุกลามจนตับเสื่อมสภาพ กลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยไขมันพอกตับที่มีภาวะติดสุราเรื้อรัง และไวรัสตับอักเสบซี จะเสี่ยงต่อโรคตับแข็งมากกว่าคนปกติ และหากไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่อาการอื่น ๆ ได้แก่
มีของเหลวจำนวนมากในช่องท้อง หรือที่เรียกว่า อาการท้องมาน
เส้นเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง (Esophageal Varices) จนอาจทำให้เกิดการแตกของเส้นเลือด และมีเลือดออกได้
มีอาการมึนงง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง เนื่องจากโรคสมองจากตับ (Hepatic Encephalopathy) ซึ่งเป็นภาวะที่ตับเสียหาย จนไม่สามารถกำจัดของเสียในร่างกายได้ จึงเกิดการคั่งของของเสีย ส่งผลให้สมองทำงานไม่ปกติ
ภาวะตับวายระยะสุดท้าย ส่งผลให้ตับหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง
มะเร็งตับ เป็นอาการที่มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
การป้องกันไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับเป็นภาวะสุขภาพที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากมีการดูแลสุขภาพที่ดีพอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชชนิดต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ปลาทะเล เป็นต้น
อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยควบคุมน้ำหนัก และกระตุ้นระบบเผาผลาญ หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรควบคุมปริมาณการดื่มแต่พอดี โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกินวันละ 2 หน่วยบริโภค และผู้หญิงไม่ควรเกินวันละ 1 หน่วยบริโภค
สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากภาวะไขมันพอกตับได้